วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

วันแห่งความทุกข์ในรอบเดือน

เพื่อนหญิงของฉันทั้งหลายมีอาการเหล่านี้(เหมือนฉันหรือป่าว T^T) ถ้ามีเรามาช่วยกันแก้ไขไปพร้อมๆกันนะค๊ะ (สู้ๆ)

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศในระหว่างมีประจำเดือนนี้มีศัพท์เรียกหลายอย่าง เช่น premenstrual syndrome (PMS), premenstrual tension หรือ dysmenorrhea ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่าทำไมอาการเหล่านี้ถึงเกิดขึ้นกับเฉพาะบางคน และแต่ละคนที่เป็นก็อาจมีอาการต่างๆ ไม่เท่ากันเสมอไป คุณผู้หญิงที่ไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวเองมีอาการของ PMS หรือไม่ อาจลองใช้วิธีจดบันทึกของอาการที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีประจำเดือนดูสักประมาณ 2-3 เดือนติดๆ กัน เพื่อสังเกตว่าเกิดอาการคล้ายๆ กันอย่างใดหรือไม่ มีความรุนแรงขนาดไหน และมีระยะเวลาเท่าใด รวมทั้งผลกระทบทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น หากพบว่ามีก็คงจะพอสังเกตเห็นได้ว่าเราเข้าข่ายที่ว่า และเมื่อคุณไปปรึกษาแพทย์ บันทึกที่ทำไว้นี้ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้นเพื่อหาทางบรรเทาอาการต่อไป

อาการไม่สบายตัวก่อนมีประจำเดือนในแต่ละคนอาจเกิดขึ้นแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ อาการทางกาย และอาการทางจิตใจ

  • อาการทางกาย ได้แก่
  • รู้สึกตัวเองอ้วน พองขึ้น ทำให้แน่นและอึดอัด เหมือนว่ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • เจ็บปวดแบบเป็นตะคริวที่บริเวณท้องน้อย(มดลูก)
  • เต้านมคัดตึง เจ็บ
  • สิวปะทุบริเวณใบหน้า
  • ครั่นเนื้อครั่นตัว เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น
  • หิวบ่อย
  • วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • รู้สึกเหนื่อยอ่อน หมดแรง
  • ใจสั่น
  • ปวดหัว
  • ปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน
  • ปวดหลัง หรือปวดกล้ามเนื้อ
  • นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไปจากปกติ เช่น ท้องผูก หรือท้องเสีย

อาการทางจิตใจ ได้แก่

  • หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย
  • ก้าวร้าว
  • เครียด
  • วิตกกังวล
  • ซึมเศร้า หดหู่
  • อารมณ์แปรเปลี่ยนง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
  • เฉื่อยชา ความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไป
  • นอนไม่หลับ
  • เบื่ออาหาร
  • อยากร้องไห้
  • อารมณ์ทางเพศเปลี่ยนไป
  • กระหายน้ำบ่อยๆ
  • รู้สึกสับสน

และเนื่องจากยังไม่มีใครสามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดอาการไม่สบายตัวก่อนมีประจำเดือนเหล่านี้ได้ นอกจากตั้งข้อสังเกตกันไว้ต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเกิดจากขาดวิตามิน B แคลเซียม และแมกนีเซียม บ้างก็ว่าเกิดจากการกินยาเม็ดคุมกำเนิด บ้างก็ว่าเกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือระดับธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำไป ทำให้การรักษาเยียวยาจึงได้แต่รักษาไปตามอาการ เช่น ปวดท้องก็ให้ยาแก้ปวด เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามวิธีที่แพทย์เน้นเป็นพิเศษเพื่อบรรเทาอาการทรมานที่ว่านี้ก็คือ การเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตบางอย่างจะช่วยได้มาก ลองพิจารณาวิธีที่เราแนะนำต่อไปนี้แล้วลองนำไปปฏิบัติตามทีละขั้นเพื่อบรรเทาอาการไม่สบายตัวในช่วงมีประจำเดือนให้รู้สึกดีขึ้น

  • รับประทานผลไม้ ผัก ธัญพืชต่างๆ ที่มีกากใยเป็นประจำสม่ำเสมอ
  • ลดเกลือ หรืออาหารเค็ม เพราะเกลือจะมีผลต่ออาการบวมน้ำ และการตึงคัดที่เต้านม
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ทั้งในชา กาแฟ ช็อคโกแลต รวมทั้งเครื่องดื่มประเภทโคคา-โคลา เพราะคาเฟอีนก็มีผลต่อการระคายเคืองและตึงคัดที่เต้านมเช่นเดียวกัน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเวลาที่คุณรู้สึกหดหู่หรือเครียด
  • พยายามทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่จมอยู่ในความเครียด ด้วยการหาวิธีผ่อนคลายแบบต่างๆ เช่น การนั่งสมาธิ เล่นโยคะ การบำบัดโดยใช้กลิ่นหอมเข้าช่วย (อโรมาเธราปี) แม้กระทั่งการนอนแช่น้ำอุ่นๆ เวลาอาบน้ำสักพักหนึ่ง
  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละประมาณ 30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว ยังช่วยให้คลายความหงุดหงิดและรู้สึกกับตัวเองดีขึ้นมาก
  • หากเกิดอาการข้อเท้าบวม ให้บรรเทาด้วยการนอนราบ และยกขาขึ้นสูง
  • ปรึกษาแพทย์ถึงการได้รับสารอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น วิตามินบี วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม หรือน้ำมันดอกอีฟนิ่งพริมโรส
    หากอาการเป็นมาก ควรพบแพทย์
  • ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ควรพูดคุยถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นและอาการที่เป็นกับคู่ของคุณ หรือคนใกล้ชิด เพื่อให้เขาเข้าใจ และจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระที่คุณต้องทำ เช่นช่วยเลี้ยงลูก หรือทำงานบ้าน รวมทั้งไม่ถือสาหาความกับคุณ ในเวลาที่คุณหงุดหงิดฉุนเฉียว หรือไม่สบายตัว

ในเมื่อคุณต้องเผชิญกับช่วงระหว่างเวลาแห่งทุกข์อย่างนี้เป็นประจำทุกเดือน ก็คงยากที่จะเลี่ยงพ้น แต่คุณก็สามารถทำให้ตัวเองมีความสุขกับชีวิตได้ ด้วยการเข้าใจในธรรมชาติในแบบที่มันเป็น และให้รางวัลกับชีวิตด้วยการหากิจกรรมรื่นรมย์ต่างๆ ทำ ออกไปช้อปปิ้งให้สบายใจ หรือไปทำผม ทำเล็บ นวดหน้า อย่างไรที่มีความสุขก็ทำซะ แล้วคุณจะพบว่าคุณสามารถผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ได้ไม่ยากเลย

ไม่มีความคิดเห็น: